Friday, August 12, 2011

PostHeaderIcon ประสบการณ์ร่วมกับศิลปะที่มหานครนิวยอร์ก!! (1)


นิวยอร์กช่างเป็นเมืองใหญ่ที่พิเศษเหลือเกินในอเมริกา นอกจากขึ้นชื่อเรื่องเศรษฐกิจแล้ว วัฒนธรรมการสร้างและเสพผลงานศิลปะก็ช่างมีส่วนผสมของความเชื่อ เชื้อชาติ กลุ่มความสนใจ ที่ความหลายหลายอย่างเหลือเชื่อ สมกับเป็นเมืองทางผ่านของผู้อพยพจากต่างชาติมาตั้งถิ่นฐานในอเมริกาตั้งแต่ในอดีตมาจริงๆ มันถูกรวมให้เป็นรัฐที่ 11 ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ.2321 นั่นก็คือ สิบปีหลังจากที่กรุงเทพได้เป็นเมืองหลวงของไทย
เนื่องจากว่าประเทศอเมริกาขึ้นชื่อเรื่องการให้ความเคารพต่อสิทธิความเสมอภาคของชนทุกกลุ่ม  จึงทำให้เราสามารถหาชมผลงานได้ตั้งแต่ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ชนชาติ ศิลปะเพื่อใช้หรือส่งเสริมในประเด็นต่างๆ ศิลปะข้างถนน ศิลปะทดลองเฉพาะทางและศิลปะแนวขึ้นหิ้งในแกลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ที่น่าสนใจคือ การที่ชนกลุ่มน้อยใดๆก็ตามถูกกีดกันการแสดงออกถือเป็นเรื่องน่าอาย เราจึงเห็นพวกเขาได้มีพื้นที่ในการแสดงออกแต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้รับการยอมรับอย่างยิ่งยวดในระดับแนวหน้า
ทุกห้องแสดงงาน กิจกรรมเสวนา ฉายหนัง คอนเสริต และกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นทั้งที่ฟรี แนะนำให้บริจาคหรือต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าร่วม (ส่วนใหญ่จะราคาประมาณ 10 ถึง 15 เหรียญ) ต้องเรียกได้ว่าไม่มีที่ไหนเงียบเหงา ผู้จัดนั่งคุยกันเองหรือ ไม่เจอคนแปลกหน้า เรียกได้ว่าทุกกิจกรรมต่างมีแฟนคลับ มีผู้ชมซึ่งใคร่รู้ ใคร่ถาม ถ้าพูดให้เห็นภาพก็ต้องใช้คำว่าทุกกิจกรรมทางศิลปะโดยเฉพาะหอศิลป์ใหญ่ๆจะมีผู้ชมตีตั๋วเข้าเหมือนกับมีงานวัด พวกเขาจะใช้เวลาในการเสพผลงานอย่างอ้อยอิ่งเนิ่นนาน และถกเถียงกับกับประเด็นต่างๆขณะชมผลงานตลอดเวลา โดยบางหอศิลป์มีเครื่องฟังเสียงบรรยายผลงานให้ยืม หรือเช่า โดยเราสามารถกดปุ่มเลือกหมายเลขของผลงานแล้วกดฟัง หรือใช้โทรศัพท์มือถือของเราเองที่รับอินเตอร์เนทไร้สายของหอศิลป์ได้เพื่อเป็นเครื่องมือในการฟังคำอภิบายของผลงาน เรียกได้ว่าผลงานทัศนศิลป์ที่ไม่ได้มองด้วยตาอย่างเดียวแต่สามารถเสพเนื้อหาใจความของผลงานด้วย พูดถึงความใคร่ถาม ทุกครั้งที่ฉันไปงานเสวนายังไม่เคยมีครั้งไหนที่ไม่มีคนเข้าแถวหรือยกมือถามเมื่อถูกเปิดโอกาสในตอนท้ายรายการ
สำหรับคนที่วางแผนจะมาเที่ยวชมศิลปะในนิวยอร์ก อยากจะแนะนำว่าช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดน่าจะอยู่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ (เมษาคม- พฤษภาคม) และใบไม้ร่วงและเริ่มหนาว (กันยายน-พฤศจิกายน) ส่วนฤดูร้อนจะมีกิจกรรมกลางแจ้งเยอะ และที่สำคัญส่วนใหญ่จะฟรี ยกเว้นเดือน กรกฏาคม และ สิงหาคม อาจจะไม่ค่อยมีกิจกรรมทางศิลปะเยอะสักเท่าไหร่ เพราะหลายแกลอรี่จะปิด เป็นเดือนที่คนนิวยอร์กหนีออกไปเที่ยวที่อื่นเพราะอุณหภูมิความร้อนชื้นสามารถไต่ถึง 40 องศาได้ พอเดือนกันยายนทุกอย่างก็จะกลับมาคึกคักเหมือนเดิม
Museum Mile Festival, MoMA และ New Museum
ช่วงหน้าร้อนหอศิลป์ชั้นนำบนถนน Park Avenue ใกล้ๆกับCentral Park ต่างรวมตัวกันเปิดให้ชมฟรีในช่วงเทศกาลที่เรียกว่า Museum Mile Festival ที่เรียกชื่อเช่นนี้เป็นเพราะว่ามีหอศิลป์ตั้งอยู่บนถนนเดียวกันมีความยาวทั้งหมดประมาณ 1 ไมล์ (1.6 กิโลเมตร) หอศิลป์เหล่านั้นคือ Solomom R. Guggenheim, Neue Gallerie, Metropolitan Museum Of Art และ Museum of African Art เป็นต้น  หอศิลป์เหล่านี้รวมศิลปะแนวหน้าของโลกไว้ที่นี่ตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งผลงานสะสมและงานหมุนเวียน ถ้าหากใครไปเห็นตึกของ Solomon R. Guggenheim Museum จะเดาได้ว่าสถาปัตยกรรมของที่นี่น่าจะเป็นต้นแบบของหอศิลป์กรุงเทพมหานครของบ้านเราอย่างช่วยไม่ได้ ถ้าหากได้มีโอกาศไป MOMA – Museum of Modern Art หากมีเวลาเที่ยวนิวยอร์กอีกหลายวันต้องขอแนะนำให้เก็บตั๋วเข้าชมเอาไว้เพื่อเข้าชม P.S 1 หอศิลป์ร่วมสมัยเครือค่ายเดียวกันได้ฟรีภายในหนึ่งเดือนอีกด้วย ชวนแวะแกลลอรี่ที่มีงานไม่มากแต่เร้าใจอย่าง Park Avenue Amory ที่เพิ่งแสดงงานวิดิโออินสตอเลชั่นอย่างเต็มรูปแบบของศิลปินญี่ปุ่น RYOJI IKEDA

เชลซี: ย่านแกลลอรี่ และสตูดิโอศิลปะ
ย่านแกลอรี่สุดฮิปในแมนฮัดตันคือย่านเชลซี ตั้งอยู่ในด้านตะวันตกตั้งแต่ถนนที่ 17 ถึง 29 เป็นย่านที่มีสถาปัตย์แบบโรงงาน ห้องใหญ่แพดานสูง บางตึกมีแสงแดดลอดเข้ามาจากหลังคาด้วย ที่นี่จะมีผลงานศิลปะทั้งจากศิลปินชื่อดังจนถึงศิลปินหน้าใหม่ ส่วนใหญ่จะแสดงเพื่อการค้าซึ่งต่างกับหอศิลป์ที่เก็บเงินค่าเข้าชมซึ่งมักเป็นผลงานสะสมและที่สำคัญเข้าชมฟรี นอกจากศิลปะแล้วย่านนี้ยังมีร้านอาหารและเครื่องดื่มที่น่าหย่อนก้น ชิมอาหารอร่อยและชมผู้คนเดินผ่านไปมาเป็นอย่างยิ่ง อย่าพลาดสถานที่น่าชมอย่าง Printed Matter ร้านหนังสือศิลปะและทำมือ,ศิลปะทดลอง The Kitchen , แหล่งเก็บข้อมูลศิลปะนิวมีเดีย Electronic Arts Intermix และ High Line สวนบนรางรถไฟเก่า ข้อมูลเพิ่มเติม chelseagallerymap.com
ย่านอื่นๆในแมนฮัดตัน
หอศิลป์ไหนๆก็พลาดดูได้แต่ต้องไม่ใช่นิวมิวเซียมสำหรับคนรักศิลปะร่วมสมัย ที่นี่จัดแสดงแต่งานหมุนเวียนเท่านั้น ผู้อำนวยการของนิวมิวเซียมคุณ Marcia Tucker เป็นผู้ที่อกหักจากการทำงานที่ Whitney Museum of American Art ซึ่งเธอเคยทำงานในฐานะภัณฑรักษ์ที่นั่นเป็นเวลา 9 ปี เธอเห็นว่าการทำงานที่นั่นได้รับการกีดกันการแสดงผลงานของศิลปินหญิงรวมทั้งความสำคัญของภัณฑรักษ์หญิงด้วย ในปี 2520 เธอใช้เงินสะสมของเธอเช่าตึกแถวเพื่อเปิดหอศิลป์ในโลวเวอร์อีสต์ไซต์ใกล้กับไชน่าทาวน์บนถนนบาวรี่ซึ่งไม่ใช่ย่านที่มิวเซียมอื่นกระจุกตัวอยู่เลย จนถึงวันนี้ที่นี่กลายเป็นหอศิลป์ที่น่าจับตามองมากที่สุดทั้งผลงานการคิวเรทและงานศิลปะ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ เพิ่งได้เปิดนิทรรศการเดี่ยวของคุณ อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับไทยรางวัลเมืองคานส์ ชั้นเจ็ดคือชั้นที่สูงที่สุดของหอศิลป์ชื่อว่าชั้นSky Room เปิดให้ผู้ชมเข้าเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ ชั้นนี้มิได้มีผลงานศิลปะให้ชมแต่ท่านสามารถชมทัศนียภาพในมุมสูงของเมืองนิวยอร์กได้เกือบ 180 องศา
แกลลอรี่ย่านเวสวิลเลจที่น่าเยือนก็คือ Gavin Brown Enterprise แกลอรี่ที่มีรูปแบบโกดัง ตึกชั้นเดียว แพดานสูง ศิลปินชื่อดังที่ทำงานชนิดที่ทำให้วงการศิลปะตกตะลึง เนื่องจากมีวิธีการแสดงงานที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย อย่างศิลปินไทย ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิชผู้ซึ่งเปลี่ยนบรรยากาศห้องแกลลอรี่เป็นห้องครัวแล้วเชิญผู้ชมมานั่งกินดืมกันหรือ เอรส์ ฟิชเชอร์ ที่ขุดพื้นแกลลอรี่เป็นหลุมแล้วเปิดให้คนเข้าไปชม
 
อยู่ไม่ไกลจากย่านชอปปิ้งสุดฮิปบนถนนวูสเตอร์ เป็นที่สำหรับคนรักการวาดเขียน Drawing Center หรือ ชมและเข้าเรียนวิชาการถ่ายภาพที่ International Center of Photography
ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้นเป็นแค่เพียงกิจกรรมทางศิลปะเด่นๆบนเกาะแมนฮัดตันตอนล่างถึงกลางเท่านั้น ยังไม่ได้รวมย่านชุมชนศิลปินที่ขึ้นชื่ออย่างเมืองบรูกลินและเมืองที่มีวัฒนธรรมอันผสมผสานและอาหารดีราคาถูกอย่างเมืองศวีนส์เลย ท่องโลกศิลปะในนิวยอร์กด้วยกันอีกในคราวต่อไปนะคะ
มิถุนายน 2554

0 comments:

Post a Comment

som's blog

hope this info is useful!

Total Reader

Powered by Blogger.